การรับรองทะเบียนสมรสสวีเดนเพื่อนำไปใช้เปลี่ยนแปลงสถานะบุคคลในประเทศไทย
การเปลี่ยนสถานะทางทะเบียนของบุคคลหรือสถานะครอบครัว เช่น การขอเปลี่ยนแปลงคำนำหน้า (นาง/นางสาว) แก้ไขนามสกุล หรือเปลี่ยนแปลงทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (สมรส-หย่า) ท่านต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอบันทึกฐานะแห่งครอบครัวด้วยตนเองที่อำเภอในประเทศไทย
โดยก่อนที่ท่านจะเดินทางไปที่อำเภอในประเทศไทย ท่านจำเป็นต้องนำเอกสารประกอบการยื่นมารับรองกับทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์มก่อน (ดูรายละเอียดเอกสารในข้อ 1 ด้านล่างนี้ และในบางกรณีทางอำเภออาจเรียกขอเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม จึงแนะนำให้ท่านสอบถามกับทางอำเภอก่อนนำเอกสารมารับรอง)
*กรณีที่ท่านไม่สามารถเดินทางกลับไปยื่นเรื่องด้วยตนเองที่อำเภอในประเทศไทย ท่านสามารถทำหนังสือมอบอำนาจ เพื่อมอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้รับมอบอำนาจ) มีอำนาจทำการแทนได้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจได้ที่ลิงค์นี้
ขั้นตอนการรับรองเอกสาร
ขั้นตอนในประเทศสวีเดน
1. จัดเตรียมเอกสารประกอบ และนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ
- ต้นฉบับใบรับรองการสมรสฉบับจริง (Vigselbevis) และฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ (ตรวจสอบรายชื่อสำนักแปลที่ได้รับการรับรองจาก UD ได้ที่ https://www.kammarkollegiet.se/ ) *หากเอกสารต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแปลเพิ่ม
- ต้นฉบับใบแสดงสถานภาพบุคคลของคู่สมรสคนไทย ฉบับภาษาอังกฤษ (Personbevis) จากสํานักงานภาษี (Skatteverket) ที่มีตราประทับและลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน
2. นําเอกสารในข้อที่ 1 ไปประทับตรารับรองจากหน่วยงาน ดังนี้
- กระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน (Utrikesdepartementet) หรือกระทรวงการต่างประเทศของลัตเวีย (สำหรับคนไทยในลัตเวีย)
*หมายเหตุ: เอกสารต้นฉบับที่ออกโดยหน่วยงานราชการซึ่งมีลายเซ็นและตราประทับอย่างเป็นทางการ เช่น "Personbevis" จากสำนักงานภาษีสวีเดน (Skatteverket) หรือ "Domslut" จากศาลแขวง สามารถนำไปให้กระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน รับรองเอกสารได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจาก Notary Public ก่อน อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ออกโดยบุคคลทั่วไป จากบริษัทเอกชน หรือสำเนาเอกสารที่ไม่มีลายเซ็นต้นฉบับ เช่น ใบสมรสจากผู้ทำพิธีสมรสที่ไม่ใช่ทางพลเรือน (เช่น โบสถ์สวีเดน หรือศาสนสถานต่างประเทศในสวีเดน) จำเป็นต้องได้รับการรับรองจาก Notary Public ก่อนที่จะสามารถนำไปรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน
3. นําเอกสารที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน หรือกระทรวงการต่างประเทศของลัตเวีย (สำหรับคนไทยในลัตเวีย) เรียบร้อยแล้วมารับรองต่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม
*ก่อนที่ท่านจะเดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อนำเอกสารมาทำนิติกรณ์ โปรดอ่านข้อมูลการจัดเตรียมเอกสารและจองเวลาที่ลิงค์นี้ คลิกที่นี่
เอกสารที่ต้องใช้
- คำร้องขอทำนิติกรณ์ ที่กรอกข้อความครบถ้วนพร้อมลงชื่อ แบบฟอร์มคำร้อง
- ต้นฉบับใบสำคัญการสมรส พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษ (Vigselbevis) และต้นฉบับใบรับรองสถานะส่วนบุคคล ฉบับภาษาอังกฤษ (Personbevis) ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดนหรือกระทรวงการต่างประเทศของลัตเวีย (สำหรับคนไทยในลัตเวีย) เรียบร้อยแล้ว
- สำเนาเอกสารตามรายการในข้อ 2 โปรดทำสำเนาทุกหน้าของเอกสาร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย หรือ สำเนาของหนังสือเดินทางไทยที่ยังมีอายุอยู่ของผู้ยื่นขอทำนิติกรณ์
- ค่าธรรมเนียม 175 SEK ต่อแสตมป์ (ชำระเงินที่สถานทูตผ่าน Swish) กรณีส่งเอกสารมารับรองทางไปรษณีย์ กรุณาใส่หมายเลขโทรศัพท์และอีเมล์ของท่านในแบบฟอร์มคำร้องขอทำนิติกรณ์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารครบเรียบร้อยแล้ว จะติดต่อท่านเพื่อชำระค่าธรรมเนียมด้วยวิธี Swish (สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นอกประเทศสวีเดนหรือจัดส่งเอกสารมาจากประเทศลัตเวีย กรุณาชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงินสด โดยให้จัดส่งมาพร้อมกับเอกสารที่ต้องการรับรองด้วย)
- กรณีส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ ให้แนบซองเปล่าสำหรับการจัดส่งเอกสารกลับไปให้ท่าน (ขนาด C4) และ ป้ายฉลากการส่งแบบลงทะเบียนจาก PostNord (หากมาดำเนินการรับรองเอกสารด้วยตนเองที่สถานทูตฯ ไม่ต้องจัดเตรียมมา)
วิธีการซื้อป้ายฉลากการส่งแบบลงทะเบียนจาก PostNord (REKOMENDERAD BREV, INTERNETBETALD)
- กรุณาเข้าไปที่ https://www.postnord.se/
- กด Köp frakt online
- เลือก REK
- เลือก 250 gram
- กรอกที่อยู่ของสถานทูตฯ ในช่องผู้ส่ง (Sender/ Avsändare)
Royal Thai Embassy (Legalization)
BOX 26220
100 40 STOCKHOLM
- กรอกชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของท่านที่สวีเดนหรือลัตเวีย ในช่องผู้รับ (Recipient/ Mottagare)
*ในช่องอีเมล กรุณากรอก Email address ของท่านทั้งในช่องผู้ส่งและผู้รับ
- พิมพ์ป้ายฉลากการส่งแบบลงทะเบียนออกมาแล้วแปะบนซองเปล่า และส่งมาพร้อมกับเอกสารของท่าน
หมายเหตุ : การซื้อฉลากแบบลงทะเบียน REK มาล่วงหน้า ต้องเข้าไปซื้อบนเว็บไซต์ของกรมไปรษณีย์สวีเดนเท่านั้น (ไม่สามารถไปซื้อได้จากตัวแทน Post ombord ต่างๆ ได้ และบนหน้าซองส่งกลับต้องระบุ เป็นแบบ INTERNETBETALD เท่านั้น (EJ KONTANTBETALD)
ขั้นตอนในประเทศไทย
4. นําเอกสารที่ได้รับการประทับตรารับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์มไปแปลเป็นภาษาไทย ที่สำนักแปลในประเทศไทย
5. นําเอกสารที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ไปรับรองการแปลที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
6. นำเอกสารทั้งหมดที่ผ่านขั้นตอนในข้อ ที่ 1-5 เรียบร้อยแล้ว ไปที่ที่ว่าการอําเภอที่ท่านมีภูมิลําเนาอยู่เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร์ และทําบัตรประจําตัวประชาชนไทยใหม่ (กรณีเปลี่ยนคำนำหน้า/ นามสกุลใหม่) จากนั้นสามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่กองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 085 880 4258 (วันจันทร์-วันศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ เวลา 14.00-16.00 น.) หรือส่งข้อความทางอีเมล์ legalization@thaiembassy.se