ราชอาณาจักรสวีเดน
ชื่อทางการประเทศภาษาไทย : ราชอาณาจักรสวีเดน
ชื่อทางการประเทศภาษาอังกฤษ : Kingdom of Sweden
พื้นที่ : 450,295 ตร.กม (ร้อยละ 88 ของไทย)
เมืองหลวง : กรุงสตอกโฮล์ม
ประชากร : 10.2 ล้านคน (ปี 2565)
ประธานาธิบดีหรือประมุข : สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน
(Carl XVI Gustaf of Sweden) และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน (Queen Silvia of Sweden)
นายกรัฐมนตรี : นายอูลฟ์ คริสเตอร์สัน (Mr. Ulf Kristersson) (ดำรงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565)
ภาษาราชการ : สวีดิช
วันชาติ : 6 มิถุนายน
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย : 18 พฤษภาคม 2411 (ครบรอบ 154 ปี เมื่อปี 2563)
ศาสนา : คริสต์นิกายลูเธอรัน ร้อยละ 87 นิกายคาทอลิก และอื่น ๆ ร้อยละ 13
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม : นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส
ระบบการปกครอง
สวีเดนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2352 รัฐสภาสวีเดนเป็นระบบสภาเดี่ยว มีจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 349 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
การบริหารของสวีเดนแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ (1) การปกครองส่วนกลาง (national government) (2) การปกครองส่วนภูมิภาค (regional level of government) และ (3) การปกครองส่วนท้องถิ่น (municipal government) ในระดับเทศบาลนคร (municipality administration)
การปกครองในระดับภูมิภาคประกอบด้วย 21 มณฑล (län หรือ county) ภารกิจส่วนใหญ่ของการบริหารมณฑลมีลักษณะเป็นงานส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ละมณฑลมีสภามณฑลที่มาจากการเลือกตั้ง สภานี้มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในด้านอนามัยและสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการให้บริการในโรงพยาบาล การจัดการศึกษาบางประเภท และการฝึกอาชีพ สภามณฑลมีสิทธิที่จะเก็บภาษีรายได้มาใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายได้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2519 คนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในสวีเดนถาวรตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งและสมัครเข้ารับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งในสภาเทศบาลและสภามณฑล
ระดับเทศบาลนคร มีทั้งสิ้น 290 แห่งทั่วประเทศ (เช่น Stockholm County ประกอบไปด้วย 26 เทศบาลนคร และสภากรุงสตอกโฮล์มก็เป็นหนึ่งในเทศบาลนครภายใต้ Stockholm County) ซึ่งเทศบาลนครมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีรายได้ (collect income tax) จัดหาและให้บริการสาธารณะ เช่น โรงเรียน การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ จัดสรรที่พักอาศัย การจัดการขยะ และสิ่งอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ โดยมีกฎหมายกำหนดภารกิจหลักที่ต้องจัดหาให้กับประชาชน (basic services) อย่างชัดเจน
ผู้แทนเทศบาลนครจะมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในสวีเดนไม่ต่ำกว่า 3 ปี จะได้รับสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งในการเมืองระดับท้องถิ่นนี้ด้วยเช่นกัน โดยกรุงสตอกโฮล์มที่มีประชากรกว่า 900,000 คน ถือเป็นเทศบาลนครที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน และมีสมาชิกผู้แทนเทศบาลนครมากถึง 101 คน ทำหน้าที่บริหารและกำหนดนโยบายของกรุงสตอกโฮล์ม ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามนโยบายและการบริการต่าง ๆ ของสภากรุงสตอกโฮล์มจะเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบของหน่วยงานของเทศบาลดำเนินการเอง และมอบหมายให้บริษัทเอกชนดำเนินการ
การเลือกตั้งในสวีเดน
การเลือกตั้งใช้ระบบสัดส่วน (proportional representation) ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการกระจายที่นั่งระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ไปตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับทั่วประเทศและป้องกันมิให้เกิดพรรคการเมืองเล็ก ๆ ขึ้นมากมาย โดยพรรคการเมืองจะต้องได้รับเสียงจากทั่วประเทศอย่างน้อยร้อยละ 4 หรืออย่างน้อยร้อยละ 12 ในเขตเลือกตั้ง จึงจะได้รับที่นั่งในรัฐสภา การเลือกตั้งจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีในวันเลือกตั้ง
หลังจากการเลือกตั้ง พรรคหรือกลุ่มที่ได้รับเสียงสูงสุดจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยรัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล และนายกรัฐมนตรีจะเลือกรัฐมนตรี (จำนวน 22 คน) เข้าร่วมรัฐบาล
รัฐสภา (Riksdag) คือองค์กรที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดในการบริหารประเทศสวีเดน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 349 คน ทั้งนี้ หน้าที่ของรัฐสภาคือ รับรองหรือไม่รับรองการตัดสินใจที่สำคัญในการบริหารประเทศด้วยการลงคะแนนเสียง และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/จัดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และยื่นถอดถอนรัฐบาล หากสมาชิกรัฐสภามีความเห็นว่ารัฐบาลทำงานได้ไม่ดีพอ
นโยบายการต่างประเทศของสวีเดน
นายกรัฐมนตรี Magdalena Andersson ประกาศเน้นส่งเสริมความร่วมมือกับ Nordic บอลติก อย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความแน่นแฟ้น ความยั่งยืน และ digitalize ในภูมิภาค ขณะเดียวกัน EU มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสวีเดน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน สิ่งแวดล้อม ผู้อพยพ วัคซีน และการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมกันนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นด้านความมั่นคงว่า สวีเดนไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO แต่พร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศในยุโรปเหนือและ EU ในกรณีเผชิญภัย และคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือกลับในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะ EU ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่สำคัญของสวีเดน และการที่สวีเดนเป็นประธาน OSCE ในปี 2564 ทำให้สวีเดนมีโอกาสปกป้อง EU Security Order
ประเด็นด้านการต่างประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี Andersson เช่น การเพิ่ม sanction ต่อเบลารุสในกรณีการสร้างวิกฤติผู้อพยพในบริเวณพรมแดนเบลารุส-โปแลนด์ การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปัญหาในอัฟกานิสถาน เยเมน และมาลี ในประเด็นหลักนิยมและการช่วยเหลือด้านการพัฒนา สวีเดนจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม ปชต. การส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็กผู้หญิง การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยสวีเดนจะยังคงจัดสรรงบประมาณด้านการส่งเสริมการพัฒนาในต่างประเทศที่ร้อยละ 1 ของ GNI พร้อมกันนี้ ได้กล่าวถึงอิทธิพลของจีนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลก โดยย้ำว่า สวีเดนและ EU จะดำเนินนโยบายต่อจีนคำนึงถึงพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์และค่านิยมของสวีเดนและ EU
เศรษฐกิจ
สวีเดนเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป แต่มีประชากรเพียง 10.2 ล้านคน จึงทำให้สวีเดนมีตลาดภายในขนาดเล็กและมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการส่งออก โดยมากกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าส่งออกเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้ กระดาษ เหล็ก อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ อากาศยาน โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การผลิตอาวุธ/ยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการผลิตเวชภัณฑ์
ในด้านนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เดิมค่าเงินโครนสวีเดนถูกกำหนดไว้คงที่เมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2535 ธนาคารแห่งชาติของสวีเดนได้ยกเลิกระบบดังกล่าวและปล่อยให้ค่าเงิน
โครนาสวีเดนลอยตัว แต่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 2 ต่อปี
แม้ว่าสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกอียู เมื่อปี พ.ศ. 2538 แต่ยังไม่ยอมรับนโยบายเงินสกุลเดียว โดยได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union – EMU) แม้ว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะผ่านเกณฑ์ (convergence criteria) ที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ก็ตาม และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2546 ทางการสวีเดนได้ทำประชามติพบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 56.1 ไม่สนับสนุนให้สวีเดนเข้าร่วมการใช้เงินสกุลยูโร
ตลาดสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของสวีเดนอยู่ในยุโรปตะวันตก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าถูกส่งออกไปยังสหภาพยุโรป อาทิ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านนอร์ดิก (เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์) เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สำหรับตลาดส่งออกนอกภูมิภาคยุโรปที่สำคัญของสวีเดน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับในด้านการนำเข้า ประเทศคู่ค้าของสวีเดนที่สำคัญที่สุด คือ สหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา
ในปี 2564 เศรษฐกิจสวีเดนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี ทำให้ GDP กลับมาเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักคือภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคบริการยังค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงาดในช่วงต้นปี ทั้งนี้ ตามข้อมูลสำนักงานสถิติสวีเดน (Statistics Sweden) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ประมาณการ GDP ในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 4.04 และคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2564 ที่ประมาณ 3.38 (ในปี 2019 GDP สวีเดนอยู่ที่ร้อยละ 1.99)
หลังการผ่านคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เป็นระยะตั้งแต่กลางปี 2564 สังคมสวีเดนสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีอัตราการจ้างงานและอุปสงค์ของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สำนักงานสถิติสวีเดนเปิดเผยว่า อุปสงค์ภาคครัวเรือนโดยรวมเข้าสู่สภาวะก่อนการแพร่ระบาดในเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ภาคการโรงแรมและร้านอาหารซึ่งเป็นภาคบริการที่ได้รับผลกระทบหลักมีอัตราการฟื้นตัวต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดที่ประมาณร้อยละ 20 ในเดือนมิถุนายน 2564 กลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดถึงร้อยละ 14 ในเดือนกรกฎาคม 2564
โดยที่เศรษฐกิจสวีเดนพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสวีเดน ซึ่ง Business Sweden ประเมินว่าภาคการส่งออกของสวีเดนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วงปี 2565 – 2566 อย่างไรก็ดี ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่หรือสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง รวมทั้งมาตรการควบคุมการผ่านแดน โดยเฉพาะนโยบาย Zero-tolerance ของจีนที่จะส่งผลต่อ supply chain และการขนส่ง รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ และการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
การค้าระหว่างประเทศของสวีเดนนั้น ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม – ตุลาคม) ปี 2564 สวีเดนทำการค้ากับทั่วโลกรวม 9,791 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากห้วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลกรวม 4,953 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวม 4,837 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยคู่ค้าสำคัญของสวีเดน 10 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และเบลเยียม ตามลำดับ โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 38 ของสวีเดน
สินค้านำเข้าที่สำคัญของสวีเดนที่นำเข้าจากทั่วโลก ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ และเครื่องจักร 663 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 27) เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 616 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25) ยานพาหนะ 515 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23) น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ 458 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 55) พลาสติก และอุปกรณ์พลาสติก 190 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 31) ยาและเวชภัณฑ์ 159 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) เหล็ก และเหล็กกล้า 155 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 66) อุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา การถ่ายภาพ และภาพยนตร์ 138 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ปลาและอาหารทะเล 135 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า 130 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35)
สินค้าส่งออกที่สำคัญของสวีเดนที่ส่งออกไปยังทั่วโลก ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ และเครื่องจักร 749 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ยานพาหนะ 648 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24) เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 451 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16) น้ำมัน และก๊าซ 352 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 82) ยาและเวชภัณฑ์ 289 พันล้านบาท (ลดลงร้อยละ 7) กระดาษ และกระดาษแข็ง 244 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) เหล็ก และเหล็กกล้า 215 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 42) พลาสติก และอุปกรณ์พลาสติก 188 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 34) ไม้และของทำด้วยไม้ 179 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 59) แร่ ตะกรัน และขี้เถ้า 146 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 58)
อัตราการจ้างงานในสวีเดนเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2564 อย่างไรก็ดี การเติบโตยังจำกัดเฉพาะในบางกลุ่มธุรกิจ โดยการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจบริการยังค่อนข้างจำกัด สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง
ระบบงานนวัตกรรมของสวีเดน
สวีเดนมีความโดดเด่นเรื่องโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนาและนวัตกรรม โดยสวีเดนอยู่อันดับที่ 1 ใน European innovation scoreboard 2021 ซึ่งจุดแข็งของสวีเดนมี อาทิ ทรัพยากรมนุษย์ ระบบดึงดูดการทำวิจัย และ eco-system ที่ส่งเสริมนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังติดอันดับต้น ๆ ในการจัดอันดับอื่น ๆ เช่น อันดับที่ 2 ใน Global Innovation Index ปี 2021 และเป็นอันดับที่ 3 ใน European Digital Economy and Society Index ปี 2021 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดอันดับต้น ๆ ในประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับความสามารถด้านนวัตกรรม อาทิ อันดับที่ 2 ด้านความคืบหน้าในการบรรลุ SDGs ในรายงาน Sustainable Development Report ปี 2021 อันดับที่ 1 ใน Energy Transition Index ปี 2021 ระบบนวัตกรรมของสวีเดนจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษา และสามารถผลักดันความร่วมมือระหว่างไทยกับสวีเดนได้
นวัตกรรมของสวีเดนมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) อย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลสวีเดน ประกาศในโอกาสต่าง ๆ ว่า นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสวีเดนบรรลุเป้าหมาย SDGs ทำให้การพัฒนานวัตกรรมต้องตอบโจทย์ความต้องการแก้ไขปัญหาในสังคม ซึ่งแทบทุกปัญหาจะมีความเชื่อมโยงกัน จึงต้องสร้างกระบวนการ (process) ที่ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการผลักดัน เช่น การเพิ่มคุณภาพการจัดการอาหารในโรงเรียน สวีเดนมองว่า ต้องพิจารณาแบบองค์รวม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพอาหาร การจัดการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การจัดการขยะที่เหลือจากกระบวนการ เป็นต้น
ปัจจุบันสวีเดนบรรลุ SDGs ไปแล้วกว่า 9 เป้าหมาย นอกจากนี้ ในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาของสวีเดนก็ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของโครงการที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ของ ปท. ผู้รับด้วย
เมื่อร้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ สวีเดนมองตนเองเป็นประเทศเกษตรกรรมรายได้น้อยด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ภูมิอากาศ และจำนวนประชากร ทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และสิ่งที่จะทำให้สินค้าของสวีเดนแตกต่างจากประเทศอุตสาหกรรมอื่นคือการนำนวัตกรรมมาใช้ สวีเดนจึงปรับโครงสร้างประเทศจากสังคมเกษตรกรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่อาศัยนวัตกรรม โดยเน้นสร้างจุดแข็ง 3 ด้าน ได้แก่ ภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง (strong business sector) ภาควิชาการที่เป็นเลิศ (academic excellence) และการสนับสนุนการทำงานภาครัฐแบบนวัตกรรม (innovative public sector) ซึ่งการจะสร้างจุดแข็งดังกล่าว สวีเดนเริ่มจากการวางรากฐานเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมให้มีศักยภาพในการนวัตกรรม ดังนั้น ตามรายงานผลการจัดอันดับต่าง ๆ เช่น European innovation scoreboard หรือ Digital Economy and Society Index จะประเมิน success factors ของสวีเดนตรงกันในเรื่องคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
จากความสำเร็จในการวางโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เกิดการนวัตกรรมในระดับประชาชน ผลผลิตทางนวัตกรรมของสวีเดนจะเป็นลักษณะล่างขึ้นบน (Bottom-up) เช่น การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนจะเกิดจากการร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนในท้องถิ่น หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อการค้าใหม่ ๆ ทำให้เกิด Unicorn Startups ในสวีเดนจำนวนมาก โดยเฉพาะสตอกโฮล์มที่อยู่ในอันดับที่ 2 รองจาก Silicon Valley ที่มี Unicorn per capita สูงที่สุดในโลก
ระบบการขับเคลื่อนสังคมนวัตกรรมในสวีเดนเป็นลักษณะ quadruple helix ที่อาศัย ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการร่วมผลักดันส่งเสริมกันเพื่อให้เกิดนวัตกรรมและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (holistic approach)
หน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมในสวีเดนหลัก ๆ แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
1. หน่วยงานส่วนกลาง เช่น National Innovation Council (NIC) หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานกลางและหน่วยงานระดับท้องถิ่นมาร่วมกันผลักดันนโยบายนวัตกรรมของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นโดยใช้นวัตกรรม และการดึงกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแก้ปัญหา Vinnova หน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมทำหน้าที่เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและเอกชนเพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมที่จับต้องได้ และกระทรวงต่าง ๆ ที่ทุกกระทรวงจะมีงานด้านนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ต้องผลักดัน
2. หน่วยงานระดับท้องถิ่น จะเป็นหน้าที่ของเทศบาลนคร (county) ต่าง ๆ ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับชุมชนและภาคประชาสังคมท้องถิ่น โดยการบริหารส่วนท้องถิ่นของสวีเดนมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง จึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ โดยส่วนใหญ่การส่งเสริมนวัตกรรมของเทศบาลนครจะเป็นความร่วมมือกับภาควิชาการในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายในแต่ละชุมชน
3. ภาควิชาการ ในช่วงที่ผ่านมา สวีเดนมีความพยายามส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย/งานวิชาการมาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในสังคม โดย รบ. ได้สนับสนุนการจัดตั้ง Innovation offices ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กระจายทั่วประเทศ จำนวน 13 แห่ง เมื่อปี 2553 เพื่อกระตุ้นการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ทางการค้า นอกจากนี้ ยังมีการสร้างศูนย์บ่มเพาะ (incubators) startups ในระดับมหาวิทยาลัย และการตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือเป็นเงินตั้งต้นแก่บริษัทที่ผ่านการบ่มเพาะและมีศักยภาพ ซึ่ง Vinnova จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาควิชาการด้วย
4. ภาคเอกชน นอกจากการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการส่งเสริมงานนวัตกรรมชุมชน และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับภาควิชาการ รบ. สวีเดนมีการจัดตั้งบริษัท[1] ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของกลุ่ม startups เช่น Almi ที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านการเงินให้แก่ธุรกิจ Startup ด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้าง business resilience โดยเฉพาะกับ startups ที่ต้องใช้เวลานานกว่า 3-5 ปีที่จะเริ่มเห็นผลกำไรจากการลงทุน หรือ สถาบัน Research Institute of Sweden (RISE) เอกชนที่สนับสนุนให้คำปรึกษาการทำธุรกิจ การรับทำงานวิจัยและพัฒนา และการให้เช่าพื้นที่ทำการทดลอง (testbed) เป็นต้น
ตามบทวิเคราะห์ใน European Innovation Scoreboard จุดแข็งที่ทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ ระบบการค้นคว้าวิจัยที่ดึงดูด และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อนวัตกรรม และได้คะแนนสูงในประเด็น public-private co-publications, Lifelong learning, International scientific co-publications, และ Foreign doctorate students
ระบบป่าไม้ของสวีเดน
อุตสาหกรรมป่าไม้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของสวีเดนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่ระบบนิเวศป่าไม้สวีเดนเสื่อมโทรมอย่างมากจากการกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการทำลายป่าเพื่อการเกษตร การตัดไม้เพื่อการก่อสร้างในประเทศและส่งออกไปยังประเทศในยุโรปอื่น ๆ โดยเฉพาะอังกฤษ การผลิตไฟฟ้า และใช้ในอุตสาหกรรมแร่เหล็ก ฯลฯ ทำให้ช่วงปี ค.ศ. 1900 สวีเดนมีพื้นที่ป่าไม้เพียงร้อยละ 30 (ความหนาแน่นของพื้นที่ป่าประมาณ 1.5 พันล้าน m³)
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีกระแสเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าในสวีเดนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐบาลสวีเดนได้ออก Forestry Act เพื่อควบคุมและบริหารจัดการระบบป่าไม้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1903 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาเป็นระยะ โดยฉบับล่าสุดแก้ไขเมื่อปี ค.ศ. 1993
ในปี ค.ศ. 2006 สวีเดนได้จัดตั้ง Swedish Forest Agency (SFA) เพื่อเป็นองค์กรหลักในการนำเสนอนโยบายต่อรัฐบาล และดูแลรับผิดชอบงานป่าไม้ทั้งหมดของประเทศ โดย SFA จะอยู่ภายใต้ Ministry of Enterprise and Innovation ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สวีเดนมองประเด็นป่าไม้เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจและการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดระบบนิเวศป่าไม้ที่ยั่งยืน (สวีเดนเคยมี Ministry of Rural Affairs ทำหน้าที่เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต่อมาถูกยุบเป็น Ministry of Enterprise and Innovation)
ปัจจุบัน สวีเดนประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ พันธุ์พืช และสัตว์ป่า โดยในปี ค.ศ. 2019 สวีเดนมีพื้นที่ป่าถึงร้อยละ 70 (ความหนาแน่นของพื้นที่ป่าประมาณ 3.5 พันล้าน m³) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หัวใจสำคัญของ Swedish Forestry Act คือการสร้างสมดุลที่เท่ากัน (equal emphasis) ระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กฎหมายกำหนดให้ป่าเป็นพื้นที่เปิดสำหรับ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทุกคนสามารถเข้าป่าเพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนเก็บผลผลิตในป่าได้ เช่น ผลไม้ป่า เห็ด ไม่ว่าจะเป็นป่าที่ครอบครองโดยรัฐหรือเอกชน เพราะจะ เป็นการสร้างจิตสำนึกถึงคุณค่าของป่าไม้กับประชาชน และให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ป่า
พื้นที่ป่าไม้ในสวีเดนแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้บุคคลทั่วไป ร้อยละ 48 พื้นที่ป่าไม้เอกชน ร้อยละ 32 และพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ ร้อยละ 20 ซึ่งเอกชนจะไม่ได้รับอนุญาตเข้าซื้อพื้นที่ป่าไม้บุคคลทั่วไป เพื่อป้องกันการผูกขาดของกลุ่มนายทุน ปัจจุบันมีเจ้าของป่ารายย่อยกว่า 320,000 ราย
ตาม Forestry Act ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1903 ได้กำหนดให้การตัดต้นไม้หนึ่งต้นจะต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างน้อย 3 ต้น ตามแนวคิด planting for next generation โดยวงจรการทำป่าไม้ของสวีเดนในแต่ละผืนป่าจะแบ่งเป็น 4 ช่วง (1) ช่วง regenerating อายุ 0-10 ปี ที่เกิดจากการปลูกป่าทดแทนหลังตัดไม้ (2) pre-commercial thinning อายุ 5-20 ปี กำจัดต้นไม้ที่ไม่จำเป็นสำหรับไม้ที่จะเติบโตเป็นป่า (3) thinning อายุ 20-70 ปี การตัดขยายระยะป่า ซึ่งป่าในช่วงอายุนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยม เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถเข้าไปเก็บเห็ดและผลไม้ป่าได้ และ (4) ป่าเก่าแก่ที่มีต้นไม้อายุ 70-100 ปี ซึ่งจะเป็นส่วนที่ถูกตัดนำไปแปรรูป ทั้งนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบการปลูกป่าทดแทนได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
ปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้
ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมป่าไม้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของสวีเดน คิดเป็นร้อยละ 3 ของ GDP เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างดุลการค้า และสร้างแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 85,000 คน นอกจากนี้ ป่าไม้ยังมีคุณค่าทางอ้อมที่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขทางธุรกิจโดยตรง เช่น มูลค่าจากภาคการท่องเที่ยวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงป่าได้เพื่อกิจกรรมด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การเก็บของป่าสร้างรายได้ สร้างอาชีพทางอ้อมกับประชาชน ในชนบท
ประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่ป่าของสวีเดนอยู่ในระดับที่สูงมาก แม้ว่าสวีเดนจะมีพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ world’s commercial forest แต่มีผลิตผลจากอุตสาหกรรมป่าไม้ร้อยละ 10 ของการผลิตรวมทั่วโลก ในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของป่าไม้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 120 ล้าน m³ และอัตราการตัดไม้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 80 ล้าน m³ ทำให้มี surplus ต่อปีประมาณ 40 ล้าน m³ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการทำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในระบบ ตั้งแต่การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ระบบการปลูก การเก็บข้อมูล การบริหารจัดการน้ำและการควบคุมไฟป่า ไปจนถึงการแปรรูป ซึ่งอุตสาหกรรมป่าไม้ของสวีเดนเน้นการใช้ประโยชน์ทุกส่วนของป่า และการใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้ไม้ที่สามารถขายได้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่ทำกำไรให้เจ้าของธุรกิจป่าไม้มีเงินทุนไปดูแลและปลูกป่าเพิ่มเติม
เกร็ดความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสวีเดน
- ปัจจุบันเป็นสมาชิกอียู และเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC ระหว่างปี 2560-2561
- ดำรงตำแหน่งประธานองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE) ปี 2564
- เป็นผู้สนับสนุนด้านการพัฒนาที่สำคัญ โดยบริจาคเงินในสัดส่วนร้อยละ 1 ของ GNI เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การศึกษา การจ้างงาน และสิ่งแวดล้อมในประเทศที่สาม
- International Energy Agency (IEA country review 2019) จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีระบบการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน (energy transition) ที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นผู้นำด้านการสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิก IEA 30 ประเทศ
- เป็นผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีผลคะแนนดัชนีความยั่งยืน (SDG Index 20๒๐) เป็นอันดับที่ ๑ ของโลก
- มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่น โดยมีเป้าหมายเป็นหนึ่งในประเทศแรกในโลกที่ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil free) และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด รวมทั้งมีมาตรการผลักดันให้ยุติการจำหน่ายยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลภายในปี ค.ศ. 2030
- เป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในโลก ส่งผลให้สามารถใช้ประโยชน์จากร้อยละ 99 ของขยะจากบ้านเรือน และสามารถนำเข้าขยะจากต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการผลิตความร้อน/พลังงานไฟฟ้า
- เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และมีผลคะแนนดัชนีนวัตกรรมโลก (GLOBAL INNOVATION INDEX: GII 2019) เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และอันดับที่ ๑ ใน European innovation scoreboard 2020
- World Intellectual Property Organization 2019 จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์
- นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดของโลก (The World’s Most Reputable Countries 2019)
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ไทยและสวีเดนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2411 และในปี 2425 ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนคนแรก
เมื่อปี 2487 ไทยได้เปิดสถานอัครราชทูตประจำกรุงสตอกโฮล์มขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมา เมื่อปี 2497 ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดน จวบจนกระทั่งปี 2502 ไทยและสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อปี 2506 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนียด้วย ต่อมา ได้กำหนดอาณาเขตใหม่โดยครอบคลุม เฉพาะประเทศสวีเดนและลัตเวีย และปี 2545 ไทยได้เปิดสำนักงานการท่องเที่ยว (ททท.) ประจำกรุงสตอกโฮล์ม และได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552
ปัจจุบัน คนไทยในสวีเดนมีจำนวนประมาณ 43,556 คน (สถิติจากทางการสวีเดน แต่คาดว่าหากรวมคนไทยที่เกิดในสวีเดน และถือ 2 สัญชาติจะมีมากถึงราว 60,000 คน) มีสมาคมไทย จำนวน 39 สมาคม (ข้อมูลปี 2563)
การค้าระหว่างประเทศไทย – สวีเดน ปี 2564
ในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ปี 2564 การค้าไทย-สวีเดนมีมูลค่ารวม 33.32 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.04 แบ่งออกเป็นการส่งออกจากไทยไปยังสวีเดน 13.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.67 นำเข้าจากสวีเดนมูลค่า 20.06 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.52 ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามูลค่า 6.80 พันล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตลาดสวีเดน 10 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง 2,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 446 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า 765 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 694 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 103 เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้ สัญญาณเสียง และส่วนประกอบ 658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 555 สิ่งปรุงรสอาหาร 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ 486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น 456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 อัญมณีและเครื่องประดับ 437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ 411 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9
สินค้านำเข้าสำคัญของไทยที่นำเข้าจากสวีเดน 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 7,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ 1,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 127 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1,695 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ 1,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 1,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ 1,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เคมีภัณฑ์ 953 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 945 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ 794 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยา ศาสตร์ การแพทย์ 682 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18
โอกาสในการทำตลาดของภาคธุรกิจไทยในสวีเดน
แนวโน้มการค้าสีเขียวยังเป็นประเด็นสำคัญที่คู่ค้า ผู้นำเข้า บริษัทค้าปลีก ค้าส่ง และผู้บริโภคสวีเดนนำมาเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเลือกซื้อสินค้า และบริการ ซึ่งแนวโน้มการค้าสีเขียวนี้รวมไปถึงสินค้าและบริการที่รักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อม การลดประมาณการปล่อย CO2 จากภาคการผลิตและการขนส่ง สินค้าเกษตรอินทรีย์ (ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร) การปฏิบัติตามมาตรฐาน CSR, Code of Conduct, UN Global Compact, Fairtrade, EU Organic logo และมาตรฐานสากลอื่น ๆ ที่ภาคเอกชนยอมรับ สามารถสร้างความได้เปรียบทางการค้าได้ เช่น ISO และ MSC certificate เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในตลาดท้องถิ่น เช่น Nordic Ecolabel และ KRAV ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก และมีแนวโน้มเติบโตในตลาดสวีเดน เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่มเกม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น
โดยทั่วไป สวีเดนเป็นตลาดที่เปิดกว้างทางการแข่งขันทั้งจากในและต่างประเทศ จึงมีการแข่งขันสูง หากต้องการเจาะตลาดสวีเดนนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการจะต้องอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสำหรับตลาดสวีเดนที่มีเอกลักษณ์นี้ได้ด้วย โดยมีข้อแนะนำดังนี้
(1) สินค้าและบริการควรแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างชัดเจน (เช่น ราคา คุณภาพ และแบรนด์ เป็นต้น)
(2) ให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างไทย และสวีเดน และปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้อง ปรัชญาวัฒนธรรมของชาวสแกนดิเนเวีย ที่เน้นย้ำถึงการเคารพผู้อื่น การถ่อมตัว และไม่โอ้อวด ซึ่งนักธุรกิจชาวต่างชาติควรใส่ใจ
(3) ประเมินคู่ค้าทางธุรกิจอย่างรอบคอบ และเลือกผู้จัดจำหน่ายที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
(4) มีความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตามแนวโน้มและสภาพตลาด
(5) ประเมินศักยภาพของผู้จัดจำหน่ายเพื่อให้สินค้าและบริการสามารถขยายตลาดได้ทั่วทั้งภูมิภาคกลุ่มประเทศนอร์ดิกในอนาคต คู่ค้าทางธุรกิจที่สำคัญของสวีเดนส่วนมากมักอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงสตอกโฮล์ม โกเธนเบิร์ก และมัลเม่อ
(6) แสดงความมุ่งมั่นที่จะเจาะตลาดและครองตลาดนี้ในระยะยาว พันธมิตรทางธุรกิจชาวสวีเดนสามารถมองเห็นถึงความน่าเชื่อถือและความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการในตลาดสวีเดนนี้ได้
การลงทุน
ตามสถิติของ BOI ในปี 2564 (1 มกราคม – 30 กันยายน 2564) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสวีเดนทั้งสิ้น 1 โครงการ มูลค่ารวม 14 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสวีเดนมีมูลค่ารวมสูงเป็นลำดับที่ 37 จากคำขอทั้งหมด และอยู่ในลำดับที่ 19 ของประเทศกลุ่มยุโรป
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนสวีเดนที่มีการลงทุนในไทย โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศไทย รวมถึงนักลงทุนรายใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไทยเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนได้ แต่จากการสอบถามนักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ ทราบว่า เอกชนยังคงมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย และยังคงพิจารณาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายการลงทุนเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น และประเทศไทยผ่อนปรนมาตรการด้านการเดินทาง อย่างไรก็ดี ปัจจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในสวีเดนและภาพรวมเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจยุโรป ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่านักลงทุนสวีเดนจะชะลอการขยายการลงทุนในอนาคตอันใกล้หรือไม่
ในบรรดาธุรกิจต่าง ๆ กลุ่มธุรกิจและกิจการของสวีเดนที่ได้รับผลบวกจากโควิด-19 และเป็นกิจการที่สวีเดนมีศักยภาพ ได้แก่ ธุรกิจด้านการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ ยา วัคซีน และบริการทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับ Digital ทั้ง digital services การให้บริการ platform online ต่างๆ (การประชุม การศึกษา สื่อบันเทิง และ e-commerce) Digital content และ Fintech ที่มีอัตราเติบโตสูง
ในปี 2565 BOI สนง. กรุงสตอกโฮล์ม วางแผนการชักจูงหรือส่งเสริมการลงทุนจากสวีเดนด้วยกิจกรรมในเชิงรุกมากขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิดรอบล่าสุดในยุโรปคลี่คลายลง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมที่สวีเดนมีศักยภาพทั้งทางด้านเทคโนโลยีและความพร้อมขยายการลงทุนไปต่างประเทศ คือ กลุ่มธุรกิจ Digital และ BCG ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมของโลกที่มุ่งสู่ digital economy และ green technology หรือเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มกิจการอื่นที่สวีเดนมีศักยภาพและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เช่น Automation & Robotic, Tech Start-up, Smart electronics, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ EV
ปัจจุบัน มีบริษัทธุรกิจชั้นนำของสวีเดนที่เข้ามาลงทุนและจัดตั้งฐานการผลิตในไทยประมาณ ๘๕ แห่ง อาทิ บริษัท SAAB (ด้านความมั่นคง และโครงการ Amata Aerospace City) บริษัท Ericsson (ระบบโทรคมนาคม และโทรศัพท์) บริษัท Mölnlycke Health Care (เสื้อกาวน์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง) บริษัท Volvo Truck (ผลิต/ประกอบรถบรรทุกและชิ้นส่วนรถยนต์) บริษัท Vattenfall AB (พลังงาน) บริษัท Purac (โรงงานกำจัดน้ำเสีย) บริษัท Tetra Pak (บรรจุภัณฑ์) บริษัท Scandinavian Village Co.Ltd. (โครงการพำนักระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุและวัยเกษียณ) บริษัท Electrolux (เครื่องซักผ้าและตู้เย็น) บริษัท ABB บริษัท Eka Chemicals บริษัท Perstorp บริษัท IKANO (ผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนยี่ห้อ IKEA)
การท่องเที่ยว
ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวสวีเดน ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวสวีเดนเดินทางไปประเทศไทยประมาณ 300,000 คน เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวสวีเดนเดินทางไปประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 287,383 คน
ปี 2564 ด้วยสถานการณ์โควิดและมาตรการณ์ปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวสวีเดนเดินทางไปประเทศไทยรวม จำนวนรวม 18,027 คน
สถานะวันที่ 4 ก.พ. 2565