ความร่วมมือด้านป่าไม้ยั่งยืน และนวัตกรรมป่าไม้ ตอนที่ 2

          วันนี้ (29 สิงหาคม 2566) เอกอัครราชทูตอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส นำคณะผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างป่าไม้ของไทย ดูงานการออกแบบอาคารบริษัท NCC ของสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในนอร์ดิกที่ได้เริ่มใช้ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างหลักแทนการสร้างอาคารด้วยคอนกรีตและเหล็ก ซึ่งจะช่วยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างและตกแต่งภายในอาคารของบริษัท NCC ด้วยวัสดุที่ทำจากไม้เป็นหลัก

          ในช่วงการเยี่ยมชมอาคาร คณะฯ ได้รับฟังการบรรยายจากคุณ Pi Ekblom หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Gaia Architecture และผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอาคารด้วยไม้ รวมทั้งได้รับฟังการบรรยายจากคุณ Emil Junelind ตำแหน่ง Business manager ของบริษัท NCC ในรายละเอียดด้านการออกแบบโครงสร้างไม้ในพื้นที่อาคาร และแผนธุรกิจโครงการก่อสร้างไม้ของบริษัท

          ต่อจากนั้น คณะฯ ได้เดินทางไป Cederhusen ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักแห่งแรกของกรุงสตอกโฮล์ม และเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่อาศัยด้วยไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีคุณ Anna Ervast Öberg, CEO ตำแหน่งบริษัท Folkhem ซึ่งอยู่เบื้องหลังการริเริ่มสร้างอาคารหลังดังกล่าวบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของโครงการ และโครงการก่อสร้างอาคารไม้แห่งอื่น ๆ ของบริษัท รวมทั้งได้พาชมห้องตัวอย่าง และนำเสนอแนวคิดการทำงานของบริษัท Folkhem ซึ่งมีจุดขายเรื่องการเป็นผู้บุกเบิกการสร้างอาคารที่ใช้ไม้เป็นแห่งแรกในสวีเดน

          ในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางไปมหาวิทยาลัย KTH Royal Institute of Technology เพื่อพบหารือกับผู้บริหาร Wood tech lab คณะ Civil and Architectural Engineering และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ KTH เพื่อรับฟังการบรรยายจาก ดร. Roberto Crocetti ดร. Magnus Wålinder และอาจารย์ Ania Öst ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้แทนมหาวิทยาลัยของไทยได้หารือเรื่องการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยร่วมกัน เช่น สถาปัตยกรรมอาคารจากไม้ วิศวกรรมการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จากไม้ การวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ร่วมกัน เป็นต้น

          ในช่วงค่ำ คณะผู้แทนภาควิชาการได้ร่วมกิจกรรมเสวนากับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อสรุปแนวทางความร่วมมือของกลุ่มภาควิชาการกับฝ่ายสวีเดน และการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมป่าไม้ของไทยในมุมมองของภาควิชาการ